ถ้าใครเคยไปประเทศ "ทูร์เคีย" หรือที่เรารู้จักกันในชื่อเดิม "ตุรกี" เชื่อว่าจะต้องเคยเห็นน้องแมวจรจัดขนสวย สะอาดสอ้าน รูปร่างดี (และบางตัวก็เข้าขั้นอวบอ้วน) อยู่ตามสถานที่ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นถนนหนทาง หน้าบ้านคน แหล่งท่องเที่ยว หรือแม้กระทั่งในโบราณสถาน
ทั้งในเมืองอิสตันบูล อิสเมียร์ หรือ คัปปาโดเกีย ชื่อเสียงเรื่อง "แมว"ของที่นี่โด่งดังจนมีคนเอาไปทำเป็นภาพยนตร์สารคดี (Kedi, 2016) บอกเล่าชีวิตแมวจรในเมืองอิสตันบูล ที่มีอยู่เป็นแสนๆ ตัว
"พระเจ้าท้ายสระ" ผู้เวนคืนราชสมบัติ ต้นเหตุสงครามชิงบัลลังก์อโยธยา
ไล่เลียงลำดับ กษัตริย์อยุธยา “พระนารายณ์-พระเพทราชา” อยู่ในช่วงไหน? คำพูดจาก สล็อตเว็บตรง
ภาพ : แมวจรบริเวณทางขึ้นปราสาทอูชิซาร์ในเมืองคัปปาโดเกีย
ผู้เขียนมีโอกาสได้ไปใช้ชีวิตในทูร์เคีย 6 วัน 5 คืน ไม่มีวันไหนไม่เจอแมว แมวที่นั่นเดินไปเดินมาได้อย่างอิสระ แม้จะมีบางร้านอุปการะให้อาหารมันโดยเฉพาะ แต่ก็ไม่ได้กั้นพื้นที่ให้มันอยู่เฉพาะบริเวณร้าน
แมวบางตัวเข้าไปได้ถึงในแหล่งท่องเที่ยวที่นักท่องเที่ยวต้องซื้อตั๋วเข้าไป บางตัวนอนชิลล์อยู่บนซากปรักหักพังของโบราณสถานอายุ 2,000 ปี ฝ่าเชือกกั้นได้โดยไม่มีใครว่าอะไร คล้ายจะบอกว่าที่นี่พวกมันเป็นใหญ่
ภาพ : แมวจรบนซากปรักหักพักของเมืองโบราณ “เอฟิซัส” ที่มีอายุ 2,000 ปี
"แซร์ฌาน"ไกด์ชาวทูร์เคียที่พาเราเที่ยว เล่าว่า สาเหตุที่แมวจรที่นี่มีเยอะเพราะความเชื่อทางศาสนาอิสลามที่เชื่อว่า “อัลเลาะห์” สร้างทุกสิ่งมีชีวิต คนทูร์เคียก็เลยต้องปกป้องดูแลมัน ทิ้งอาหารและน้ำไว้ทุกหัวมุมให้พวกมันได้กิน
มีคนทูร์เคียบางคนถึงกับอุทิศตัวแบกเป้ที่เต็มไปด้วยอาหารแมวแล้วตามหาแมวจรเพื่อจะให้อาหารมันในแต่ละวัน บางคนที่รักมันมากๆ ก็ทำที่พักให้มันอาศัย มีแม้กระทั่งสร้างบ้านหรือแบ่งห้องในบ้านของตัวเองให้แมวเป็นสิบๆ ตัวอยู่หลบแดด ฝน และอากาศหนาว โดยเฉพาะ
วัฒนธรรมการดูแลแมวอย่างดีของชาวทูร์เคีย ทำให้เวลาขี้เกียจแล้วไม่อยากทำงาน จะชอบพูดติดตลกกันว่า "อยากเป็นแมวที่คาดึคอย"ซึ่งเป็นย่านคนรวยในเมืองอิสตันบูล เพราะแมวที่นั่นอ้วนมากและถูกเลี้ยงดูแบบสปอย
ภาพ : "แซร์ณาน"ไกด์ท้องถิ่นชาวทูร์เคีย
แซร์ฌานบอกว่า ถ้านึกภาพไม่ออก ให้ดูอย่างแมวดังของเมืองอย่างเจ้า “ทอมบิลี่” (Tombili) ที่เป็นมีมในอินเตอร์เน็ตจนมีคนสร้างรูปปั้นแทนตัวหลังมันตาย ไม่ใช่แค่แมวที่ชาวทูร์เคียดูแล แต่ยังรวมถึงสัตว์อื่นๆ เช่น หมา และนก “แซร์ฌาน” เล่าว่า ตามความเชื่อ สัตว์เหล่านี้ไม่ใช่สมบัติของใครคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นหน้าที่ของทุกคนต้องดูแล บางบ้านโปรยอาหารไว้บนหลังคาให้นกได้กิน และบางคนอุปการะสัตว์บางตัวไว้โดยเฉพาะ
แต่คนทูร์เคียโดยทั่วไปก็ดูแลมันอย่างดี แม้ไม่ได้เป็นเจ้าของ และไม่ใช่แค่ในระดับประชาชน แต่ระดับรัฐ องค์การบริหารราชการส่วนท้องถิ่นจะมีงบประมาณจากภาษีส่วนหนึ่งที่แบ่งไว้ดูแลสัตว์โดยเฉพาะ หากคนทูร์เคียพบสัตว์จรจัดป่วย สามารถโทรหาหน่วยงานท้องถิ่นให้ส่งสัตวแพทย์มารักษา
ภาพ : แมวจรบนซากปรักหักพักของเมืองโบราณ “เอฟิซัส” ที่มีอายุ 2,000 ปี
นอกจากนี้ หน่วยงานรัฐท้องถิ่นในทูร์เคีย มีการสำรวจประชากรหมาจรจัดและฉีดวัคซีนพิษสุนัขบ้าให้ โดยจะติดป้ายที่หูไว้เป็นสัญลักษณ์ เพื่อป้องกันกรณีหมาไปกัดคน ซึ่งแทบไม่เกิดขึ้นเพราะส่วนใหญ่จะคุ้นเคยกับคน แต่ก็เคยมี รัฐบาลจึงต้องป้องกันไว้ก่อน ประชากรหมาแมวจรจัดที่มีจำนวนมาก อีกด้านหนึ่งก็มีข้อถกเถียงในหมู่ชาวทูร์เคียเหมือนกัน แซร์ฌานเล่าว่าคนทูร์เคียแบ่งเป็นสองฝ่าย
ฝ่ายหนึ่งมองว่าสัตว์เหล่านี้ไม่ควรมาอยู่ข้างถนน ขณะที่อีกฝ่ายมองว่าให้พวกมันได้อยู่อย่างอิสระแบบเดิมดีกว่า ซึ่งรัฐบาลปัจจุบันก็กำลังพยายามจะแก้ปัญหาประชากรสัตว์จรจัดล้นเมือง มีการสร้างที่พักให้พวกมันโดยเฉพาะแต่ยังไม่เพียงพอ และมีการทำหมัน แต่วิธีนี้ก็ต้องใช้งบประมาณมหาศาล อนาคตจึงยังไม่ชัดเจนว่ารัฐบาลทูร์เคียจะดำเนินการอย่างไรกับพวกมัน แต่แซร์ฌานเชื่อว่าประชากรสัตว์เหล่านี้จะน้อยลง
ภาพ : ลูกแมวหลบหนาวในลังกระดาษที่คนเจาะช่องให้มันนอนในเมืองอิสตันบูล
นอกจากนี้ แม้ชาวทูร์เคียส่วนใหญ่จะรักพวกมัน แต่ก็มีบางคนไม่ชอบและทำร้ายพวกมันเหมือนกัน ซึ่งแม้ทูร์เคียจะมีกฎหมายห้ามทารุณกรรมสัตว์และมีโทษจำคุก แต่ว่าในทางปฏิบัติเมื่อขึ้นศาลแล้ว ศาลมักจะพิจารณาตัดสินโทษแค่ปรับเงิน เพราะคุกที่นี่แน่นมากแล้วและไม่อยากเอาคนเข้าคุกเพิ่มด้วยฐานความผิดที่ดูจะส่งผลกระทบกับคนทั่วไปน้อยกว่าความผิดอื่นๆ เหรียญมีสองด้านฉันใด ความน่ารักน่าหยุมพุงของน้องแมวที่นี่ก็มีอีกด้านฉันนั้น แต่ในอีกด้านเราเห็นความพยายามแก้ปัญหาของรัฐบาลและคนทูร์เคียให้สัตว์และคนอยู่ร่วมกันได้
นี่เป็นอีกสเน่ห์ของทูร์เคียที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวเข้ามาสัมผัส นอกจากความงดงามของวัฒนธรรมที่ผสมผสานระหว่างเอเชียและยุโรป และสถาปัตยกรรมเก่าแก่ทั้งจากยุคกรีก โรมัน และจักรวรรดิไบแซนไทน์ ที่กระจายตัวอยู่ในหลายพื้นที่ของประเทศ
เรื่อง/ภาพ โดย นงนภัส พัฒน์แช่ม ผู้สื่อข่าว PPTV